เลือกหน้า

ผ้าเงี่ยงนางดำ

การทอผ้าเงี่ยงนางดำ

ภูมิปัญญา OTOP

ประวัติความเป็นมา

การทอผ้าเงี่ยงนางดำ เทศบาลตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ต้องการสืบทอดและอนุรักษ์ผ้าพื้นเมืองของบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ดั่งเดิมที่อพยพมาจากลาวมาอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แหล่งน้ำลำตะคลองบริเวณอำเภอสูงเนินในปัจจุบันตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๘ หรือ พ.ศ. ๒๔๔๒.ในการดำเนินชีวิตจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อเว้นว่างจากการทำไร่ ทำนา จะทอผ้าไว้ใช้เองโดยมีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม โดย มีลักษณะของผ้าเงี่ยงนางดำดั่งเดิมเป็นผ้าฝ้ายประกอบด้วย ๓ ส่วน ส่วนแรกเป็นพกสีแดงสอดลายแนวตั้งด้ายสีเหลือง ขาว ส่วนที่สอง เป็นผ้าพื้นย่อมครามแทรกเส้นด้ายสีแดง ส่วนที่ ๓ เป็นชายผ้าถุง สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนชาวสูงเนิน มาตั้งแต่ดั่งเดิมกว่า ๑๐๐ ปี
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ความเจริญเข้ามาถึงชุมชนเพราะได้มีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งในเขตอำเภอสูงเนิน ทำให้การแต่งกายมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพความจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวัน จากเดิมประกอบอาชีพด้านการเกษตรหลังจากการเก็บเกี่ยวจะมีเวลาว่างก็จะทอผ้าไว้สำหรับเป็นเครื่องนุ่งห่มกันเอง เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไปเป็นลูกจ้างตามโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ไม่มีเวลาในการทอผ้า จึงจัดซื้อมาใช้เพื่อความสะดวก ผ้าเงี่ยงนางดำ จึงค่อยๆหายไปตามกาลเวลา จะมีหลงเหลือที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็เฉพาะผู้สูงอายุ หรือลูกหลานบ้างบางรายเท่านั้น
เทศบาลตำบลสูงเนิน เล็งเห็นคุณค่าในเอกลักษณ์ของผ้าเงี่ยงนางดำ ที่ผู้เฒ่า ผู้แก่กล่าวถึง เทศบาตำบลสูงเนิน จึงได้สืบค้นหาประวัติ และผู้สูงอายุที่ใช้ผ้าเงี่ยงนางดำในชีวิตประจำวันและหลงเหลืออยู่ พร้อมทั้งได้สอบถามจากหมู่บ้านใกล้เคียงไม่มีที่ไหนที่มีผ้าลักษณะเหมือนผ้าเงี่ยงนางดำ ของเราเลยจึงได้สืบค้นหาความเป็นมาเพราะเกรงว่าผ้าอัตลักษณ์ของสูงเนินจะหายไป จึงได้นำกลับมาฟื้นฟูตั้งกลุ่มผ้าเงี่ยงนางดำให้รุ่นลูก รุ่นหลานได้รู้จักกันอีกครั้งหนึ่ง โดยการนำของ นายนคร กิติพูลธนากร นายกเทศมนตรีตำบลสูงเนิน แต่ก็ไม่ได้จัดทำเต็มรูปแบบของผ้าเงี่ยงนางดำทั้งหมด เพราะว่าเมื่อก่อนนี้จะใช้ผ้าเงี่ยงนางดำทำเป็นผ้าถุงนุ่งอย่างเดียว กลุ่มจึงได้ประยุกต์ นำเอาส่วนที่ ๒ กลับมาปรับปรุงทำรูปแบบคงไว้ซึ่งผ้าเงี่ยงนางดำ เพราะเนื่องจากปัจจุบัน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ผ้าของเราไม่ได้แต่งกายโดยนุ่งผ้าถุงกันแล้ว จะเป็นกระโปร่ง เสื้อ หรือแม้แต่กางเกงทั้งชายและหญิง ทางกลุ่มทอผ้าเงี่ยงนางดำ จึงส่งเสริมให้ทำการทอเฉพาะ ส่วนที่ ๒ ที่เป็นพื้นสอดลาย เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งยังมีการดัดแปลงสีสันหลากหลายตามความนิยมร่วมสมัย ประกอบกับฝ้ายและต้นไม้ที่ใช้ย้อมหายากไม่มีใครปลูกแล้วจึงได้หันมาใช้ด้ายประดิษฐ์ เช่น ปัจจุบันทอสีม่วง หรือไม่ก็ทอสีตามออเดอร์ของผู้ซื้อได้ทุกสี และผ้าเงี่ยงนางดำได้รับความไว้วางใจให้ใช้ผ้าเงี่ยงนางดำประดับโต๊ะอาหาร เช่น ใช้ทำผ้าปูโต๊ะ ,ที่รองแก้ว , ที่รองจาน ,ผ้าคุมเก้าอี้ , ที่ใส่ช้อน บนโต๊ะอาหาร

ผ้าเงี่ยงนางดำจะไม่ตกสียิ่งซักยิ่งนิ่ม ผ้าใส่แล้วไม่ร้อน โปร่งสบาย ระบายความร้อนได้ดี

ควรตากในที่ร่ม  และไม่ควรซักด้วยเครื่อง

คณะกรรมการบริหารกลุ่มทอผ้าเทศบาลตำบลสูงเนิน

๑. นางสาวสงบ จูมสูงเนิน ประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่ม

๒. นางเบญจา ดวงสูงเนิน รองประธานคณะกรรมการบริหาร

๓. นางอุษา ชมโคกกรวด รองประธานคณะกรรมการบริหาร

๔. นางสมใจ ตันแต๋ว เลขานุการกลุ่ม

๕. น.ส.ปรียาดา เต็งมั่ง ผู้ช่วย/เลขานุการกลุ่ม

๖. นางพลร่ม ชินโนสอน ประชาสัมพันธ์

๗. นางคำม่วน ทิมสูงเนิน คณะกรรมการ

๘. นางกัลยา แก้ววิชัย คณะกรรมการ

๙. นางทองสด ศรีสูงเนิน คณะกรรมการ

๑๐. นางจุลนี ผ่องแผ้ว คณะกรรมการ

๑๑. นางสุชาดา สอนภู คณะกรรมการ

๑๒. น.ส.พิสมัย ลับสูงเนิน คณะกรรมการ

๑๓. นางจิรัชยา ภักดีอิ่ม คณะกรรมการ

๑๔. นางกัญญ์ณณัฏฐ์ สินประเสริฐ คณะกรรมการ

๑๕. น.ส.สุกัญญา เพลงดี คณะกรรมการ

๑๖. นางสมพงษ์ กัลยา เหรัญญิก

๑๗. นางบุษบา โชติจันทึก คณะกรรมการ/ที่ปรึกษา

๑๘. นายนคร กิติพูลธนากร คณะกรรมการที่ปรึกษา

๑๙. นายนิเวชน์ กิติพูลธนากร คณะกรรมการที่ปรึกษา

๒๐. นายเชิด ดวงมาลี คณะกรรมการที่ปรึกษา

๒๑. นายสุเมธ สว่างศรี คณะกรรมการที่ปรึกษา

๒๒. นางน้อมจิตร มามะเริง นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการ/
คณะกรรมการที่ปรึกษา

อัตลักษณ์ / จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าเงี่ยงนางดำ คือ ผ้าถุงที่ใช้นุ่งที่เรียกว่าผ้าเงี่ยงนางดำจะมี ๓ ส่วน ส่วนพก จะเป็นลวดลายเฉพาะของสูงเนิน ซึ่งเป็นพื้นผ้าสีแดงสอดด้วยสีขาว ที่สำคัญส่วนพกจะเป็นลายแนวตั้ง ซึ่งผ้าทอของที่อื่นจะเป็นสีพื้นอย่างเดียว ส่วนที่สอง เป็นตัวผ้าถุง เป็นสีคราม หรือสีน้ำเงินสอดแดง และส่วนตีนผ้าถุง จะทอด้วยสีดำเป็นแถบทึบสลับแดง ซึ่งจะมีตีนผ้าถุงที่ไม่กว้าง เหมือนตีนผ้าทอของจังหวัดต่าง ๆ และอีกอย่างที่เด่นก็จะเน้นสีน้ำเงิน สีแดง และสีดำ ซึ่งผ้าที่ใช้ทอจะเป็นผ้าฝ้ายยอมด้วยคราม เท่านั้น ซึ่งเป็นสีธรรมชาติ จากต้นคราม แต่ปัจจุบันนี้ ฝ้ายก็หายาก ต้นครามก็หายากแล้ว จึงพัฒนามาเป็นด้ายฝ้ายประดิษฐ์ แทน ซึ่งจัดทำการทอผ้าของกลุ่มก็ได้ยกเอาส่วนที่ ๒ ของตัวผ้ามาทอในปัจจุบัน

ความสัมพันธ์กับชุมชน
ฝีมือการทอ จากแรงงานคนในชุมชนในเขตเทศบาลตำบลสูงเนินอย่างแท้จริง และผ้าเงี่ยงนางดำในสมัยก่อนประชาชนที่เป็นผู้หญิงจะต้องทอผ้าเป็นกันทุกคน เพราะต้องทอผ้านุ่งในชีวิตประจำวัน ให้กับทุกคนในครอบครัว โดยจะทอกันเองในยามว่างงานจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร โดยไม่ต้องไปหาซื้อ ต่อมาจึงได้มีการรวมกลุ่มกันเตรียมสมาชิกให้ได้รับความรู้ สร้างความเข้าใจให้ตรงกันในการพัฒนาภูมิปัญญา อีกทั้งยังได้ใช้เป็นผ้าที่ตัดเป็นชุดประจำ ของหน่วยงาน องค์กร ชมรม ต่าง ๆภายในเขตเทศบาล และผ้าดังกล่าวยังได้รับเกียรติให้นำไปทำเป็นอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารเนื่องในงานกีฬาแห่งชาติที่จัดที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา อีกด้วย
ชุมชนได้สนใจออกมาร่วมกลุ่มกัน เพื่อให้ผู้เฒ่า ผู้แก่ ได้สอนวิธีการทอผ้าเงี่ยงนางดำ เพื่อให้รุ่นหลังได้เป็นผู้สืบทอด รักษาความรู้เรื่องการทอผ้าเงี่ยงนางดำเอาไว้

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

๑. ตัวกี่ที่ใช้สำหรับทอผ้า

๒. ด้ายยืน

๓. ด้ายพุ่ง

๔. เครื่องค้นด้าย

๕. ฟันฟืม หรือฟันหวี

๖. ไม้ม้วน

๗. ตะกอ (มีไว้สำหรับให้เส้นด้ายสอดขึ้นลง)

๘. ไม้สำหรับริ่วเขา

๙. กระสวย

๑๐. ร้านตั้งด้าย (ใช้สำหรับการค้นด้าย)

ขั้นตอนการผลิต
ขั้นตอนการเตรียมด้ายยืน โดยใช้ด้ายประดิษฐ์ ที่ย้อมสำเร็จแล้วนำมาปั่นเข้าหลอด เมื่อเข้าหลอดเรียบร้อยแล้วก็ก็เตรียมตั้งเป็นร้านเพื่อเดินด้ายเข้ารูปโครง
ขั้นตอนสาวด้าย จะต้องคำนวณดูว่าจะใช้กี่เมตร เมื่อคำนวณได้แล้วก็จะหาความกว้าง ความยาว เช่น ถ้าตั้งเส้นด้าย ๕๐ หลอดและต้องการผ้าหน้ากว้าง ๔๐” ก็จะเดินด้าย ๒๔ ครั้ง หรือ ๒๔ เที่ยว จะได้เส้นด้ายออกมาทั้งสิ้น ๑,๒๐๐ ฟันหวี สำหรับความยาวนั้นนับเอาจากม้าเดินด้าย ถ้าม้าเดินด้ายยาวตัวละ ๔ เมตร ก็จะใช้ ๑ หลัก ๔ เมตร ถ้าต้องการ ๘๐ เมตร ก็จะใช้ ๒๐ หลัก เมื่อได้ความยาว ความกว้างแล้วก็จะเตรียมเข้าฟันหวีต่อไป
ขั้นตอนสอดฟันหวี เมื่อได้ความกว้าง ความยาวแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เตรียมด้ายเข้าฟันหวี หรือเรียกอีกอย่างว่าฟันฟืม ถ้าหากต้องการฟันหวี ๔๐” หมายถึง ๑,๒๐๐ ฟันหวี ก็จะเอาเส้นด้ายร้อยเข้าไปในฟันหวี เพื่อที่จะเตรียมม้วนต่อไป (ฟันหวีเป็นฟืมที่ใช้สำหรับทอผ้า ที่จะให้เป็นผืนผ้าออกมา เส้นด้ายทุกเส้นจะต้องผ่านฟันหวีก่อน) เมื่อร้อยฟันหวีเสร็จแล้วก็จะเข้าสูขั้นตอนการม้วน
ขั้นตอนการม้วน จะนำด้ายที่สอดฟันหวีเรียบร้อยแล้ว ไปเข้าม้าม้วน คือไม้ม้วนที่เราจะใช้เก็บด้ายไว้ การนำเข้าม้าม้วนเราต้องตรวจสอบฟันหวีดูว่า ฟันหวีจะต้องครบไม่มีขาด ไม่มีการเกิน เพราะจะทำให้ผ้าเป็นตำหนิได้ เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้วก็จะเตรียมเก็บตะกอต่อไป
การเก็บตะกอ ต้องตรวจเส้นด้ายที่ม้วนมาว่าไม่ผิด คือต้องมีเส้นบน เส้นล่าง และเส้นบนต้องอยู่บน เส้นล่างก็ต้องอยู่ล่าง ตะกออันนี้เวลาเหยียบเส้นด้ายจะมีการสลับกันขึ้นลง
การนำเข้ากี่ จะใช้ม้วนด้ายที่เตรียมไว้ นำเข้าไปในกี่ประกอบให้เรียบร้อย ผูกตะกอมัดโยงทั้งข้างบน และข้างล่างจนเรียบร้อยก็เตรียมทอได้เลย

การเตรียมทอ คือ จะต้องเตรียมด้ายพุ่งโดยใช้ด้ายประดิษฐ์ เพื่อความสะดวก ตามที่เราต้องการแล้ว นำมาปั่นใส่หลอดเพื่อทอ โดยการทอผ้าเงี่ยงนางดำจะทอผ้าพื้น ๖ ครั้ง แล้วสอดด้วยสีที่ต้องการ ๑ ครั้ง หรือทอผ้าพื้น ๘ ครั้ง สอดด้วยด้ายสีที่ต้องการ ๒ ครั้ง แต่ด้ายที่สอดจะใช้ด้ายสลับสีนำมาพันกันแล้วปั่นใส่หลอดเพื่อใช้สอด จะเป็นลายนูนขึ้นมาสวยงาม
สำหรับลวดลายของผ้าขณะนี้ยังไม่มีรูปแบบของผ้าใหม่ๆ เพราะต้องการอนุรักษ์
อัตลักษณ์ของแบบผ้าไว้คงเดิมให้มากที่สุด แต่กลุ่มก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาให้ดีกว่านี้

กลุ่มผู้ประกอบการ
กลุ่มผู้ผลิต : กลุ่มทอผ้าเทศบาลตำบลสูงเนิน
สถานที่ผลิต : ชั้น ๒ ตลาดเย็นเทศบาลตำบลสูงเนิน หมู่ที่ ๑ ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ๓๐๑๗๐
ประธานกลุ่ม : นางสาวสงบ จูมสูงเนิน
สถานที่ตั้งกลุ่ม : ชั้น ๒ ตลาดเย็นเทศบาลตำบลสูงเนิน หมู่ที่ 1 ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 30170 โทร. ๐๖๒-๐๔๐๔๒๙๘  หรือ
คุณบุษบา ๐๘๑-๔๔๕๘๓๐ กองสวัสดิการสังคม ๑๔๔-๔๑๙๓๙๗ ต่อ ๑๕
เส้นทางคมนาคม : รถโดยสารประจำทาง และโดยสารโดยรถไฟ

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ หรือจากนครราชสีมา จะมีรถยนต์วิ่งผ่านปาทางเข้า อำเภอสูงเนิน ทุกสาย ต่อจากนั้นนั่งรถยนต์สองแถวรับจ้างเข้าไปที่ตลาดเย็น (ชั้นที่ ๒) จะตั้งเป็นศูนย์ทอผ้าของกลุ่มทอผ้าเทศบาลตำบลสูงเนิน

ทางรถไฟ จากกรุงเทพฯ หรือจากนครราชสีมา จะมีรถไฟเกือบทุกขบวน ยกเว้นรถด่วนซึ่งจะไม่จอดสถานีรถไฟสูงเนิน ต่อจากนั้นมีรถมอเตอร์ไซด์ รับจ้าง และสองแถว ปากทางสูงเนิน – ถึงหลังสถานีรถไฟสูงเนิน

แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ , ช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ
1.ที่ตั้งกลุ่มทอผ้าเทศบาลตำบลสูงเนิน ตลาดเย็นชั้น ๒ หมู่ที่ ๑ ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ๓๐๑๗๐
2.ที่กองสวัสดิการสังคม สำนักงานเทศบาลตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ๓๐๑๗๐
3.หน่วยงานทั้งราชการและเอกชน ได้แก่ โรงเรียนในเขตอำเภอสูงเนิน ,ชมรมผู้สูงอายุ มูลนิธิสว่างแสงธรรมธรรมสถาน เป็นต้น

เทศบาลตำบลสูงเนิน